วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

อาณาจักรมัชปาหิต

อาณาจักรมัชปาหิต เป็นอาณาจักรในชวาตะวันออก มีอำนาจอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1293 ถึงประมาณ ค.ศ. 1500. กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมัชปาหิต คือ ฮะยัม วูรุค (Hayam Wuruk) ครองราชย์ ในช่วง ค.ศ. 1350 - 1389 นับเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรแห่งนี้ โดยได้ขยายอำนาจไปทั่วแหลมมลายูตอนใต้ บอร์เนียว สุมาตรา บาหลี และฟิลิปปินส์
มัชปาหิตนั้น เป็นอาณาจักรฮินดูแห่งสุดท้ายในหมู่เกาะมาเลย์ ก่อนนี้มีอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเชื่อว่ามีที่ตั้งอยู่ในปาเลมบัง บนเกาะสุมาตรา
ผู้สถาปนาอาณาจักรมัชปาหิต ก็คือ การ์ตะราชะสา (Kertarajasa) หรือ ระเด่นวิชัย ลูกเขยของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสิงหะส่าหรี ซึ่งอยู่บนเกาะชวาเช่นกัน หลังจากสิงหสารีแผ่อำนาจกว้างไกลจนกลุ่มศรีวิชัยต้องถอยออกไปจากเกาะชวา ใน ค.ศ. 1290 อำนาจอันยิ่งใหญ่ของสิงหสารีก็เป็นที่สนใจแก่กุบไลข่านในจีน ซึ่งได้ส่งทูตมาขอเครื่องราชบรรณาการ ในเวลานั้นการ์ตะนคร ผู้ปกครองอาณาจักรสิงหสารีทรงปฏิเสธที่จะส่งมอบเครื่องราชบรรณาการ กุบไลข่านจึงส่งกองเรือถึง 1,000 ลำมาประชิดชายฝั่งชวา ในปี ค.ศ. 1293


วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

อาณาจักรทวารวดี




ทวารวดี เป็นคำภาษาสันสกฤต เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 โดยนายแซมมวล บีล (อังกฤษ: Samuel Beel) ได้แปลงมาจากคำว่า โถโลโปตี (อังกฤษ: Tolopoti) ที่มีอ้างอยู่ในบันทึกของภิกษุจีนจิ้นฮง (อังกฤษ: Hiuantsang) ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า โถโลโปตี เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร และอาณาจักรอิศานปุระ และเขาได้สรุปด้วยว่าอาณาจักรนี้เดิมตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทย(สยาม)ปัจจุบัน และยังสันนิษฐานคำอื่นๆที่มีสำเนียงคล้ายกันเช่น จวนโลโปติ (อังกฤษ: Tchouanlopoti) หรือ เชอโฮโปติ (อังกฤษ: Chohopoti) ว่าคืออาณาจักรทวารวดีด้วย

ต่อมาความคิดเห็นนี้ได้มีผู้รู้หลายท่านศึกษาต่อและให้การยอมรับเช่น นายเอดัวร์ ชาวาน (อังกฤษ: Edourd Chavannes) และ นายตากากุสุ (อังกฤษ: Takakusu) ผู้แปลจดหมายเหตุการเดินทางของภิกษุอี้จิงในปี พ.ศ. 2439 และ นายโปล เปลลิโอต์ (อังกฤษ: Paul Pelliot) ผู้ขยายความอาณาจักรทวารวดีเพิ่มอีกว่ามีประชาชนเป็นชาวมอญในปี พ.ศ. 2447 เป็นต้น ดังนั้นบรรดาเมืองโบราณรวมทั้งโบราณวัตถุสถานต่างๆที่พบมากมายโดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถจัดกลุ่มได้ว่าเป็นของขอมหรือของไทย แต่มีลักษณะคล้ายกับศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ - หลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 9-13 ที่พันตรีลูเนต์ เดอ ลาจองกีเยร์ (อังกฤษ: Lunet de Lajonguiere) เรียกว่า กลุ่มอิทธิพลอินเดียแต่ไม่ใช่ขอม จึงถูกนำมาสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (พ.ศ. 2468) และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. 2469) เป็นกลุ่มบุคคลแรกที่กำหนดเรียกชื่อดินแดนที่เมืองโบราณเหล่านี้ตั้งอยู่ รวมทั้งงานศิลปกรรมที่พบนั้นว่าคือดินแดนแห่งอาณาจักรทวารวดี และศิลปะแบบทวารวดี โดยใช้เหตุผลของตำแหน่งที่ตั้งอาณาจักรตามบันทึกจีนกับอายุของบันทึก และอายุของงานศิลปกรรมที่ตรงกัน อาณาจักรทวารวดีจึงกลายเป็นอาณาจักรแรกในดินแดนไทย กำหนดอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16

อาณาจักรทวารวดี เป็นที่น่าเชื่อถือขึ้นอีกเมื่อพบเหรียญเงิน 2 เหรียญ มีจารึกภาษาสันสกฤตอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 จากเมืองนครปฐมโบราณ มีข้อความว่า ศรีทวารวดีศวรปุณยะ ซึ่งแปลได้ว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี หรือ บุญของผู้เป็นเจ้าแห่งศรีทวารวดี หรือ พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ อาณาจักรทวารวดีจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีอยู่จริง และยังเชื่อกันอีกด้วยว่าเมืองนครปฐมโบราณน่าจะเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักร (แต่ปัจจุบันพบเหรียญลักษณะคล้ายกันอีก 2 เหรียญ ที่อำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี และที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ความสำคัญของเมืองนครปฐมจึงเปลี่ยนไป) แต่ขณะเดียวกันนักวิชาการบางท่านก็เชื่อว่าอำเภออู่ทอง หรืออาจเป็นจังหวัดลพบุรี ที่น่าจะเป็นเมืองหลวงมากกว่ากัน